Hot Topic!
ผุด ISO สกัดโกง ป้องจัดซื้อ 1 ล้านล้านบาท
โดย ACT โพสเมื่อ May 21,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -
ป.ป.ท.ผนึก ACT ดันจัดทำไอเอสโอด้านธรรมาภิบาลธุรกิจ ต้านโกงวงเงินจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐปีละ 1.1 ล้านล้าน ลั่นใครไม่มีใบรับรองอนาคตหมดสิทธิ์ร่วมประมูล "กรทิพย์" เดินหน้าหารือกรมบัญชีกลาง-กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจ
จากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่ลดลงไป ยิ่งขุดคุ้ย มีคนให้เบาะแสก็ยิ่งพบปมทุจริตเกิดขึ้นเป็นรายวัน เฉพาะอย่างยิ่งในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีงบประมาณต่อปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล หลัก 7 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี จูงใจให้เกิดการทุจริตทั้งในส่วนของผู้ให้คือเอกชนที่จ่ายสินบนเพื่อให้ชนะประมูลโครงการ และส่วนข้าราชการที่เป็นผู้รับช่วยปิดบังซ่อนเร้นความผิด ซึ่งต้องเร่งหาแนวทางป้องกันเพื่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริตน้อยที่สุด
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เร็วๆ นี้ ป.ป.ท.ได้หารือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT โดยได้เสนอแนวคิดการจัดทำไอเอสโอ หรือมาตรฐานธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน ที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในอนาคต และขอให้ ACT ศึกษาแนวทาง หลักเกณฑ์ รายละเอียดคุณสมบัติ ของบริษัทที่จะได้ใบรับรอง รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ของรัฐบาลที่ควรให้กับเอกชนในการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจ
"ACT ได้รับไปศึกษาแนวทาง กระบวนการ และรายละเอียด ว่าบริษัทที่จะได้การรับรองธรรมาภิบาล ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ใครจะเป็นคนตรวจรับรองมาตรฐาน และออกใบรับรองโดยใคร ใบรับรองมีอายุเท่าไร เช่น 2 ปี 5 ปีแล้วทบทวนใหม่หรือไม่ เป็นต้น"
หากขั้นตอนข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะขึ้นสู่บันได 3 ขั้นคือ 1.ประกาศแนวทาง รวมถึงหลักเกณฑ์รายละเอียดให้ภาคเอกชนรับรู้ 2.รัฐบาลประกาศว่าจะบังคับใช้เมื่อไหร่ เช่น อาจจะบังคับใช้ใน 2 ปี เพื่อให้เอกชนมีเวลาเตรียมตัวในการจัดทำมาตรฐาน และ 3.การขอใบรับรองเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล ในอนาคตจะกำหนดเลยว่า ผู้ที่ไม่มีใบรับรองธรรมาภิบาล จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล และไม่มีสิทธิ์เข้ามาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องหารือกับอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยในเร็วๆ นี้ ทาง ป.ป.ท.จะไปพบกับอธิบดีกรมบัญชีกลาง รวมถึงอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อหารือในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ภาคเอกชนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมจัดทำมาตรฐานธรรมาภิบาล เช่น อาจได้ส่วนลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปี ได้ส่วนลดในการวางเงินสด หรือแบงก์การันตีในการจัดซื้อจัดจ้างเช่น จากเดิมต้องวางหลักประกันสัญญา 25% อาจจะได้ลดเหลือ 20% เป็นต้น
"ขณะเดียวกันใบรับรองอาจมีการจัดระดับมาตรฐานธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน เช่นมีระดับ 1-10 ถ้าจัดทำธรรมาภิบาลได้ระดับ 1 สามารถเข้าร่วมงานกับภาครัฐได้วงเงินไม่เกิน 2 ล้าน ระดับ 10 ซึ่งต้องมีมาตรฐานสูงมาก สามารถร่วมได้ในวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง 100 ล้าน ถึงหลักพันล้าน หมื่นล้านบาท เป็นต้น"
ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ทาง ACT อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการจัดทำมาตรฐานธรรมาภิบาลบริษัทเอกชน ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ ซึ่งคงต้องใช้เวลา เพราะในระดับสากลยังไม่มีประเทศใดที่มีการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยสกรีนบริษัทเอกชน และช่วยป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) พบว่างบประมาณจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในระดับ 7.50 แสนล้านบาทถึง 1.13 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2558 งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง 1.13 ล้านล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 1.12 ล้านล้านบาท จำนวนโครงการรวม 3.47 ล้านโครงการ, ปีงบประมาณ 2559 งบจัดซื้อจัดจ้าง 7.55 แสนล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 6.88 แสนล้านบาท จำนวนโครงการรวม 1.85 ล้านโครงการ
ส่วนปีงบประมาณ 2560 งบจัดซื้อจัดจ้าง 8.40 แสนล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 7.45 แสนล้านบาท จำนวนโครงการรวม 2.01 ล้านโครงการ โดยโครง การที่มีงบจัดซื้อจัดจ้างมากสุดคือจ้างสร้างเรือดำน้ำโดยวิธีกรณีพิเศษ วงเงินงบประมาณ 1.34 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค 60-มี.ค.61) งบจัดซื้อจัดจ้าง 4.82 แสนล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 4.03 แสนล้านบาท จำนวนโครงการรวม 1.47 ล้านโครงการ โดยโครงการที่มีงบการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุดคือโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร มูลค่า 4,260.84 ล้านบาท
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw
Follow IG: http://bit.ly/2yeu3hy
WebSite : http://www.anticorruption.in.th